ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว

สังขละบุรี มนต์เสน่ห์แห่งลุ่มแม่น้ำสามประสบ



"สะพานไม้ ด่านเจดีย์ นทีสามประสบ มรดกทุ่งใหญ่ ไทย กระเหรี่ยงรามัญ สารพันธรรมชาติ อภิวาทหลวงพ่ออุตตมะ เมืองสังขละชายแดน สุดแคว้นตะวันตก"...นึกภาพออกหรือยังว่าเรากำลังหมายถึงที่ไหน ใช่แล้วค่ะ! เรากำลังพูดถึง "สังขละบุรี" อำเภอสุดท้ายของจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีตำนานเล่าขานมายาวนาน ใครที่มาเยือนย่อมรู้ดีว่า ที่นี่...มีดีอย่างไร?

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรม สังขละบุรี คงจะเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่พลาดไม่ได้ที่จะมาเยี่ยมชมพร้อมเก็บภาพประทับใจ และยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยของจริงที่เมื่อครั้งสมัยเรียนได้รับรู้ แค่เพียงในตำราเรียนเท่านั้น
สังขละบุรี' เป็นอำเภอที่ติดต่อกับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 215 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอทองผาภูมิ 74 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะตัดผ่านภูเขาเลียบทะเลสาบเขื่อนเขาแหลม ซึ่งมีทัศนียภาพที่งดงามมาก จนต้องงัดกล้องออกมาเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก ชาวบ้านในสังขละบุรีส่วนใหญ่จะเป็นชาวมอญ ซึ่งอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวอำเภอตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า สามประสบ (ตามคำขวัญของอำเภอนั่นไงเล่า!) คือบริเวณที่ลำน้ำสามสาย อันได้แก่ ห้วยซองกะเลีย ห้วยบิคลี่ และห้วยรันตี ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแควน้อย ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ถ้ามีเวลาเยอะหน่อยควรไปเที่ยวให้ทั่ว เพราะแต่ละแห่งจะมีความสวยงามแตกต่างกันไป
เราไปเริ่มต้นที่ วังบาดาล หรือ วัดใต้น้ำ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ‘อันซีนไทยแลนด์' ซึ่งแต่ก่อนเป็น วัดวังก์-วิเวการาม ที่ หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านอพยพ ชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญได้ร่วมก้นสร้างขึ้นเมื่อปี 2496 ในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ นั่นแหละ
ในปี 2527 มีการก่อสร้าง เขื่อนเขาแหลม ทำให้น้ำเข้าท่วมตัวอำเภอสังขละบุรีเก่ารวมทั้งวัดนี้ด้วย จึงได้ย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขา ส่วนวัดเดิมได้จมอยู่ใต้น้ำมานานนับสิบปี ในช่วงฤดูแล้งราวเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งน้ำลดจะสามารถสังเกตเห็นตัวโบสถ์ของวัดได้อย่างชัดเจน และสามารถนั่งเรือไปเที่ยวชมได้ แต่ในช่วงน้ำขึ้นน้ำจะท่วมสูงเกือบทั้งหมด เหลือเพียงยอดของโบสถ์ให้เห็นเท่านั้น
วัดวังก์วิเวการาม เป็นวัดจำพรรษาของ หลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทย ชาวมอญ รวมทั้งชาวกระเหรี่ยงและพม่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ภายในวิหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงาม ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อขาว จากวัดวังก์วิเวการามแยกไปอีก 1 กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งของ เจดีย์แบบพุทธคยา มีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนที่เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร มีสีขาวอมเหลืองเป็นเงา บรรจุในผอบ 3 ชั้น ซึ่งหลวงพ่ออันเชิญมาจากประเทศศรี-ลังกา และฉัตรทองคำหนัก 40 บาท ขึ้นสู่ยอดพระเจดีย์ เจดีย์นี้หลวงพ่ออุตตมะจำลองมาจากประเทศอินเดีย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2521 ด้วยเงินบริจาคของผู้ใจบุญทั้งหลาย
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีการจัดงานคล้ายวันเกิดหลวงพ่ออุตตมะ ในงานมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนา การแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงของชมรมวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และในงานประชาชนจะพร้อมใจกันแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของชาวไทยรามัญ และจัดเตรียมสำรับอาหารทูนบนศีรษะไปถวายพระสงฆ์ที่วัด
ไม่ไกลจากวัดวังก์วิเวการามนัก เราจะเห็นสะพานไม้ยาวสุดลูกหูลูกตา ชาวบ้านเรียกสะพานนี้ว่า สะพานมอญ จะมีแยกทางเข้าเล็กๆ เข้าได้สองทาง คือ ทางเลยตลาดมาหน่อยอยู่ขวามือ อีกทางเลยตัวเมืองเข้าไปนิดนึงเป็นทางลาดชันลงไป หากได้แวะไปถ่ายภาพสักหน่อยจะดีไม่น้อย จากบริเวณสะพานจะได้เห็นทิวทัศน์ภูเขาและพื้นน้ำโดยรอบ ซึ่งในช่วงเช้าจะมี แม่ชีมอญ สวมชุดสีชมพูกางร่มมารับบาตร เป็นภาพที่สวยงามมาก เชื่อได้เลยว่าคนกรุงเทพฯ ได้เห็นภาพเหล่านี้ไม่บ่อยนัก
ส่วน น้ำตกเกริงกระเวีย จะขึ้นอยู่กับเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เป็นน้ำตกขนาดเล็ก จะมองเห็นสายน้ำแผ่กระจายไหลมาจากหลายทิศทาง เหมาะสำหรับเป็นจุดพักผ่อนระหว่างการเดินทางไปอำเภอสังขละบุรี จากนั้นเราไปต่อที่ ด่านเจดีย์สามองค์ เขตสิ้นสุดชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองลู พระเจดีย์สามองค์นี้เดิมเรียกว่า หินสามกอง เป็นที่สักการะของคนไทยในสมัยโบราณ ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่เขตพม่า ต่อมาในปี 2472 พระศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรีของไทย ได้เป็นผู้นำชาวบ้านสร้างเป็นเจดีย์ขนาดเล็กสามองค์ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ ยังเป็นช่องทางเดินทัพที่สำคัญของไทยและพม่าในอดีต ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมตลาดชายแดนในเขตพม่าได้ โดยเสียค่าผ่านด่านชาวไทย 25 บาท ชาวต่างประเทศ 130 บาท ถ้าเราได้ข้ามไปฝั่งพม่า เลยไปตามทางลูกรัง ประมาณ 4-5 กม. เราจะพบวัดเสาร้อยต้นห่างจากชายแดนประมาณ 1 กม. เท่านั้น
โบราณว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ลองไปดูแล้วคุณจะรู้ว่า สังขละบุรี' มีดีกว่าภาพที่เห็นเสียอีก...
ขอขอบคุณ : นิตยสารคู่หูเดินทาง ผู้สนับสนุนเนื้อหา 


Responses

0 Respones to "สังขละบุรี มนต์เสน่ห์แห่งลุ่มแม่น้ำสามประสบ"

แสดงความคิดเห็น

Return to top of page Copyright © 2011 | Platinum Theme Converted into Blogger Template by Hack Tutors